วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเทศแคนาดา


แคนาดา
ในหน้านี้จะรวมทุกอย่าง เกี่ยวกับประเทศ แคนาดา เชิญชมครับ
แคนาดา
Canada
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ทิศเหนือจรดมหาสมุทรอาร์กติก ทิศใต้จรดประเทศสหรัฐอเมริกา
ทิศตะวันออกจรดมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตกจรดมหาสมุทรแปซิฟิก และมลรัฐอะแลสกา

พื้นที่ 9,976,140 ตารางกิโลเมตร ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

เมืองหลวง กรุงออตตาวา (Ottawa)

เมืองสำคัญ โทรอนโต(Toronto) มอนทรีออล(Montreal) แวนคูเวอร์ (Vancouver)
ควิเบก ซิตี้ (Quebec City) แฮลิแฟ็กซ์ (Halifax) วินนิเป็ก (Winnipeg) เอ็ดมันตัน
(Edmonton)

ภูมิอากาศ ภาคพื้นทวีป (มีหิมะในฤดูหนาว และอบอุ่นในฤดูร้อน)

ประชากร 31.7 ล้านคน (ประมาณการปี 2546)

ภาษา อังกฤษและฝรั่งเศส

ศาสนา โรมันคาธอลิก (ร้อยละ 42) โปรแตสแตนท์ (ร้อยละ 40) อิสเทอร์นออโธดอกซ์
และยิว (ร้อยละ 18)

อิสลามและพุทธศาสนามีอัตราเพิ่มค่อนข้างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายการรับคนนอกประเทศมาตั้งถิ่นฐาน

หน่วยเงินตรา แคนาเดียนดอลลาร์ (1 CND ประมาณ 29.8 บาท) (21 พฤษภาคม
2547)

GDP 993 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2546)

รายได้เฉลี่ยต่อหัว 31,300 ดอลลาร์สหรัฐ (2546)

ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 34.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 1.7 (ประมาณการปี 2546)

วันชาติ 1 กรกฎาคม

ระบอบการเมือง ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy)

ระบบการปกครอง สมาพันธรัฐ (Confederation) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น
10 มณฑล (Province) และ 3 เขตปกครองพิเศษ (Territory) โดยแต่ละมณฑลมีนายกรัฐมนตรี
(Premier) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย

1. Ontario 2. Quebec

3. Nova Scotia 4. New Brunswick

5. Manitoba 6. British Columbia

7. Prince Edward Island 8. Saskatchewan

9. Alberta 10. Newfoundland and Labrador

11. Northwest Territory 12. Yukon Territory

13. Nunavut Territory

ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ
(Governor General) ซึ่งปัจจุบันคือ นางเอเดรียน คล้ากสัน (The Right Honourable
Adrienne Clarkson)

นายกรัฐมนตรี นายพอล มาร์ติน (The Right Honourable Paul Martin)

พรรคการเมือง มีพรรคการเมืองที่สำคัญ 4 พรรค ได้แก่

1. พรรค Liberal (LP) แนวเสรีนิยมสายกลาง

2. พรรค Conservative (เกิดจากการรวมตัวของพรรค Progressive Conservative (PC)
และพรรค Canadian Alliance แนวอนุรักษ์นิยม

3. พรรค New Democratic Party (NDP) แนวก้าวหน้า

4. พรรค Bloc Quebecois (BQ) มีนโยบายแยกมณฑลควิเบกเป็น ประเทศเอกราช




การเมืองการปกครอง
ประวัติศาสตร์โดยสังเขป ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองแคนาดาฝั่งตะวันออกในปี ค.ศ.1534 และได้เริ่มตั้งถิ่นฐานในปี ค.ศ.1604 ปัญหาความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1713 อันเนื่องจากเหตุผลด้านการประมงและการค้าขนสัตว์ ซึ่งในที่สุดดินแดนแคนาดาตกเป็นของอังกฤษ ปี ค.ศ.1849 แคนาดาได้รับการยอมรับในสิทธิการปกครองตนเอง และต่อมาปี ค.ศ.1867 ได้มีการจัดตั้ง Dominion of Canada ในลักษณะของสมาพันธรัฐซึ่งประกอบด้วย Upper และ Lower Canada (มณฑล Ontario, Quebec, Nova Scotia และ New Brunswick ในปัจจุบัน) และต่อมาได้ขยายออกไปยังมณฑลภาคตะวันตกจนถึงมณฑล British Columbia ปี ค.ศ.1931 แคนาดาได้รับสถานะเป็นประเทศที่เท่าเทียมกับอังกฤษโดยมีกษัตริย์อังกฤษเป็นพระประมุข และต่อมาในปี ค.ศ.1949 มณฑล New Foundland and Labrador เข้าร่วมเป็นมณฑลที่สิบของแคนาดา


การเมืองการปกครอง
การเมืองภายใน
- เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2547 นาย Paul Martin นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้ประกาศให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 38ของแคนาดาการเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรม ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายMartin เนื่องจากนาย Martin เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรครัฐบาล (พรรค Liberal)ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติผู้ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแคนาดา ในลักษณะนี้จะยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปในโอกาสแรก เพื่อขอ mandate จากประชาชน

- จากผลจากการสำรวจคะแนนนิยมเมื่อวันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม ศกนี้ ปรากฏว่าพรรค Liberal มีคะแนนนำอยู่ร้อยละ 35 พรรค Conservative ร้อยละ 26 พรรค New Democratic Party (NDP) ร้อยละ 18 ยกเว้นในมลฑลควิเบก พรรค Bloc Qu?b?cois (the Bloc) มีคะแนนนำร้อยละ 22 ซึ่งมากกว่าพรรค Liberal

- แม้ว่าพรรค Liberal จะมีคะแนนนำอยู่ แต่คะแนนนิยมของพรรค Liberal ได้ลดต่ำลงกว่าช่วงเดือนมกราคมถึงร้อยละ 23 สืบเนื่องจากปัญหาความหละหลวมในการเบิกจ่ายงบประมาณ ของอดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองจากพรรค Liberal ในการดำเนินโครงการ sponsorship programme ซึ่งว่าจ้างบริษัทโฆษณารณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมความ เป็นเอกภาพและต่อต้านกระแสแยกตัวเป็นอิสระของมณฑลควิเบก โดยนาย Martin ได้ประกาศให้เริ่มการไต่สวนเรื่องนี้ในช่วงเดือนกันยายน 2547

- ในการเลือกตั้งครั้งนี้นาย Martin ประกาศนโยบายเน้นการปรับปรุงด้านสาธารณสุข และการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่คนแคนาดาให้ความสำคัญมาก คู่แข่งที่สำคัญของนายMartin คือนาย Stephen Harper หัวหน้าพรรค Conservative ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคคือ พรรค Progressive Conservative (PC) และพรรค Canadian Alliance (CA) โดยนาย Harper ได้ประกาศนโยบายลดภาษีแก่ชาวแคนาดา และโจมตีนาย Martin เกี่ยวกับประเด็น
sponsorship programme


นโยบายหลักของรัฐบาลแคนาดา

- เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 นาย Paul Martin หัวหน้าพรรค Liberal เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของแคนาดา โดยมีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ดังนี้

1. สร้างความเข้มแข็งทางด้านสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคน แคนาดา (strengthening the social foundation for Canadian life) โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องการศึกษา การพัฒนาในวัยเด็ก การบริการสาธารณสุข สวัสดิการสำหรับคนชรา และผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ฯลฯ


2. สร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจแก่แคนาดาในศตวรรษที่ 21 (building a 21st century
economy) โดยใช้มาตรการการคลังที่มีประสิทธิภาพ ลดอัตราดอกเบี้ย/ภาษี และทบทวนโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

3. เพิ่มอิทธิพลและเกียรติภูมิของแคนาดาในเวทีระหว่างประเทศ (ensuring Canada place
in the world as one of influence and pride) โดยนอกจากจะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดแล้ว ก็ยังจะให้ความสนใจประเทศอื่นๆ เช่น จีนและอินเดียที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น


นโยบายต่างประเทศ

- นาย Martin ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่องานด้านการต่างประเทศ โดยมีการปฏิรูป กระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ (Department of Foreign Affairs and International Trade (DFAIT) ออกเป็น 2 กระทรวงได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ(Department of Foreign Affairs)และกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ (Department of International Trade) โดยนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ นอกจากการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ โดยการการจัดตั้งกระทรวงความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) เพื่อดูแลเรื่องการก่อการร้ายเป็นผลให้สหรัฐฯยินยอมให้บริษัทแคนาดา เข้าร่วมประมูลสัมปทานโครงการฟื้นฟูอิรักในรอบสองแล้ว (ในด้าน oil & gas oil field services) แคนาดาจะยังคงเน้นบทบาทด้านพหุภาคีและองค์การระหว่างประเทศ ส่วนในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศในเอเชีย จะเน้นความสัมพันธ์กับประเทศจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

- นโยบายด้านการต่างประเทศของนาย Martin เน้นการส่งเสริมสถานะของแคนาดาในเวทีระหว่างประเทศ โดยได้เสนอจัดตั้งการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่ม G20 ในระหว่างการหารือกับนายGeorge Bush ในช่วงการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายน 2547 เพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อความความมั่นคงและสันติภาพของโลก ในปัจจุบันและประกาศจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครแคนาดาชื่อ Canada Corps รวมทั้งประกาศให้แคนาดาเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยการบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านดอลลาร์แคนาดาให้แก่องค์การ WHO และออกกฎหมายให้ขายยารักษาโรคเอดส์ของแคนาดา ในราคาต่ำให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วย ทั้งนี้ แคนาดาจะมีการออก Foreign Policy Review ในช่วงปลายปี 2547 หากนาย Martin ชนะการเลือกตั้ง

- นโยบายต่างประเทศแคนาดาในภาพรวมมีดังนี้

ส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แคนาดาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่จะต้องแสวงหาตลาดและ แข่งขันในต่างประเทศการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่เสรีและเป็นธรรม
ปกป้องรักษาความมั่นคง แคนาดาตระหนักว่าความมีเสถียรภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นพื้นฐาน ที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจขณะนี้ปัญหาต่างๆ ในโลกเป็นปัญหาข้ามแดนและมีอย่างหลากหลายรูปแบบ อาทิ ปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน อาชญากรรม โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งแวดล้อม ประชากร และความด้อยพัฒนา ล้วนเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อสภาวะความมั่นคงทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมของแคนาดา มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ส่งเสริมค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนประชาธิปไตย การยึดหลักกฎหมาย และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

- บทบาทสำคัญของแคนาดาในเวทีพหุภาคีและองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนและผลักดันหลักการของนโยบายต่างประเทศแคนาดา และสะท้อนแนวคิดและค่านิยมหลักของแคนาดาในเรื่องการสร้างความมั่นคง และพัฒนาหลักการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่

การผลักดันแนวคิดเรื่อง ความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network : freedom
from want and freedom from fear) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบทบาทนำในแนวคิดเรื่อง
Responsibility to Protect ว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐในการปกป้องคุ้มครองประชาชนของตน ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศมีหน้าที่ที่จะแทรกแซงได้ หากรัฐนั้นๆ ไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ที่จะปฏิบัติตามความรับผิดชอบดังกล่าว นอกจากนี้ แคนาดายังสนับสนุนการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) และการรณรงค์กำจัดทุ่นระเบิด เป็นต้น

- แคนาดาเห็นความสำคัญต่อการค้าพหุภาคี และให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยมีความตกลงและเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศต่างๆ ดังนี้

• Canada-Singapore Free Trade Agreement (อยู่ระหว่างการเจรจา)

• Free Trade Area of the Americas มีผลบังคับใช้ปี 2548

• The Canada-US Free Trade Agreement มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2532

• The North American Free Trade Agreement (NAFTA) มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2537

• GATT: Agreement on the Uruguay Round ลงนามเมื่อปี 2537

• Canada-Chile Free Trade Agreement มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2540 ทำให้ชิลีลดภาษีทันทีให้แก่สินค้าส่งออกของแคนาดาร้อยละ
75 ธุรกิจของแคนาดาในชิลี รวมถึงป่าไม้ เหมืองแร่ พลังงานและไฟฟ้า รวมถึงการสื่อสาร

• Canada-Israel Free Trade Agreement เริ่มเมื่อปี 2540



เศรษฐกิจการค้า
เศรษฐกิจการค้า
แคนาดาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มจี 8 ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องประมาณร้อยละ 3 ต่อเนื่องกันมา 6 ปี (จนถึงปี 2545) สาเหตุสำคัญเนื่องจากแคนาดาเป็นประเทศที่มีมาตร การการค้าที่เสรีและโปร่งใสมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
แคนาดาเป็นประเทศที่พึ่งพิงการค้ากับต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการค้าต่อ GDP ถึงร้อยละ 45 สำหรับการส่งออก และร้อยละ 40 สำหรับการนำเข้า รูปแบบการค้าและการลงทุนของแคนาดาจะพึ่งพิงกับสหรัฐฯเป็นหลัก ทั้งสหรัฐฯและแคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดระหว่างกันทั้งการนำเข้าและการส่งออก อีกทั้งยังมีการจัดทำความตกลง North American Free Trade Agreement (NAFTA) ซึ่งยิ่งช่วยเสริมมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับระบบภาษีนำเข้าของแคนาดาประมาณ ร้อยละ 90 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 อีกทั้งยังให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าที่นำเข้าจากประเทศด้อยพัฒนา ยกเว้นในสินค้าประเภทนม สัตว์ปีกและไข่
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ทองคำ ถ่านหิน เหล็ก นิเกิ้ล โปแต๊ซ ยูเรเนียมและสังกะสี รวมทั้งป่าไม้
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินแร่ เครื่องยนต์ รถยนต์ กระดาษ ไม้เนื้ออ่อน พลังงานปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า อลูมิเนียม อุปกรณ์สื่อสาร ชิ้นส่วนอากาศยาน ระบบคอมพิวเตอร์การส่งออกมีมูลค่าจำนวน 272,009.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546
สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องยนต์ สินค้าอุปโภค บริโภค อาหาร มูลค่าสินค้านำเข้ามีจำนวน 239,471.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ (ร้อยละ 86.06) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 2.12) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 1.52) จีน (ร้อยละ 1.52) และเยอรมนี (ร้อยละ 0.74)
ปริมาณการค้ารวมของแคนาดา ในช่วงปี 2546 มีมูลค่า 511,480.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการส่งออก มูลค่า 272,009.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 7.79 และการนำเข้าจากแคนาดามีมูลค่า 239,471.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 7.82 ดุลการค้าในปี 2546 แคนาดาได้เปรียบดุลการค้า 32,538.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2547 แคนาดาได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2544 โดยการส่งออกมีมูลค่า 34.9 พันล้านดอลลาร์แคนาดา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ รถยนต์และอุปกรณ์
แคนาดาพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ทั้งด้านการค้าและการลงทุนมากที่สุด ร้อยละ 86.06 ของการค้า
กับต่างประเทศของแคนาดาเป็นการค้ากับสหรัฐฯ และในปี 2546 มีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.44 และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37 แม้ว่ารัฐบาลแคนาดาได้จัดวางนโยบายมุ่งเอเชีย/แปซิฟิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 แต่ยังมิได้บังเกิดผล เพราะภาคเอกชนแคนาดายังสะดวกที่จะตักตวงผลประโยชน์จากความผูกพันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ อย่างแนบแน่น ทั้งนี้ แคนาดาได้ประกาศกระจายความสัมพันธ์ด้านการค้าไปยังตลาดใหม่ อาทิ จีน อินเดีย และบราซิล
ภาคการบริการเป็นภาคกิจการที่สำคัญที่สุดของแคนาดา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารชั้นนำของแคนาดา 6 แห่ง เป็นหนึ่งใน 100 ธนาคารชั้นนำของโลก และมีสาขาอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ รวมถึงธนาคาร Nova Scotia ซึ่งมีสาขาอยู่ในไทยด้วย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม ทำให้แคนาดาสามารถพัฒนาความก้าวหน้าในภาคกิจการนี้เป็นอย่างมาก
อุตสาหกรรมที่สำคัญของแคนาดา ได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้ (ร้อยละ 3.5 ของ GDP)ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า (ร้อยละ 2.5 ของ GDP) การสื่อสารและคมนาคม เหมืองแร่
(ร้อยละ 2 ของ GDP) และพลังงาน (ร้อยละ 6 ของ GDP)
การลงทุน
แคนาดาเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในทุกกิจการยกเว้นในบางกิจการ ได้แก่ กิจการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม การเงิน การขนส่ง และบริการด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ ยังมีกิจการประเภทอื่นๆ ที่ห้ามการลงทุนหรือจำกัดการลงทุนจากต่างชาติ ได้แก่ การประมง ซึ่งอนุญาตเฉพาะชาวแคนาดาเท่านั้น การขนส่งทางอากาศ ซึ่งอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน ร้อยละ 25 การผลิตและการจำหน่ายหนังสือ การกระจายเสียง (ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงและไม่เกินร้อยละ 33 ในกรณีที่เป็นบริษัทแม่) การจัดจำหน่ายภาพยนตร์ การจัดพิมพ์เอกสารไตรมาส บริการด้านการเงิน (มีข้อจำกัดด้านการถือหุ้นซึ่ง แตกต่างตามขนาดของสถาบันการเงิน และขึ้นอยู่กับแต่ละเมือง) โทรคมนาคม (จำกัดการถือหุ้นของต่างชาติไม่เกินร้อยละ 46.7) ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเอเปค แคนาดาจะต้องเปิดเสรีการค้าและการลงทุนภายในปี 2553
รัฐบาลแคนาดาได้ปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้มีความสะดวกและเอื้ออำนวยต่อการ ลงทุนของต่างชาติตลอดเวลา รัฐบาลแคนาดาให้สิทธิประโยชน์เพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่อการลงทุนในกิจการการวิจัยและพัฒนา ซึ่งเป็นกิจการเป้าหมายของรัฐบาลแคนาดา รัฐบาล แคนาดายังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับ เทคโนโลยีเพื่อรองรับกับความต้องการของต่างชาติ นอกจากนี้ แรงงานแคนาดายังมีความรู้และมีประสิทธิภาพ และอัตราการย้ายงานมีต่ำมาก
สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในแคนาดาเป็นอันดับหนึ่ง โดยจะลงทุนในกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ได้แก่ กิจการพลังงานและเหมืองแร่ กิจการที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ได้แก่ กิจการด้านการเงินและประกันภัย (ร้อยละ 19.2) กิจการพลังงาน (ร้อยละ 16.2) อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่ากิจการในอุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มที่จะมีการลงทุนทางตรงจากต่างชาติในแคนาดาเพิ่มขึ้น เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น หลายบริษัทจะเป็นลักษณะของการควบและรวมกิจการ (M&A) เช่น ในกิจการน้ำมัน และเหมืองแร่ ส่วนการลงทุนทางตรงของแคนาดาในต่างประเทศจะลงทุนมากที่สุดในสหรัฐฯ
แคนาดาออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าที่ได้รับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมุ่งที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเป็นหลัก และมีแนวโน้มจะออกไป ลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ความสนใจต่อสหภาพยุโรปมากขึ้นเป็นลำดับ กิจการที่แคนาดาให้ความสนใจ ได้แก่ พลังงาน โลหะ การเงินและประกันภัย เป็นที่น่าสังเกตว่า การลงทุนของแคนาดาในต่างประเทศจะเปลี่ยนจากการลงทุน ในกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ไปสู่การลงทุนในการผลิตเครื่องจักรกล การขนส่ง การเงินและการประกันภัย ภาคบริการและการค้าปลีก ดังนั้น จะพบว่าการลงทุนทางตรงจาก ต่างประเทศในแคนาดาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นกิจการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ในขณะที่การลงทุนทางตรงในต่างประเทศของแคนาดา ให้ความสนใจในกิจการด้านการเงินและการประกันภัย ดังเช่น บริษัท Manulife Financial ควบรวมกิจการของ John Hancock ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ Manulife เป็นบริษัทประกันภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ในสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 2 ในแคนาดา
สังคม
สังคมของแคนาดาเป็นสังคมที่มีส่วนผสมของชนชาติต่างๆ มากมาย โดยชนชาติที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด ระหว่างปี ค.ศ. 1991-2000 คือคนจากเอเชีย (จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อิหร่าน) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59.5 ของคนเข้าเมืองเพื่อตั้งถิ่นฐานในแคนาดา โดยในปี ค.ศ. 1962 รัฐสภาแคนาดาได้ออกกฎหมายคนเข้าเมืองตามข้อเสนอของพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้จนทุกวันนี้ สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวคือการยกเลิกการเลือกประติบัติ (ก่อนหน้านี้ มีการออกกฎหมายปี ค.ศ. 1887 เพื่อกีดกันการเข้าเมืองของคนจีน และต่อมาปี ค.ศ. 1910 ได้ออกกฎหมายที่ใช้หลักการแหล่งกำเนิด แบ่งเป็น preferred ซึ่งคือ กลุ่มคนยุโรป และ non-preferred ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่ยุโรป) กล่าวคือ การเปิดรับคนเข้าเมืองจากทุกที่อย่างเป็นทางการทั่วไป และการใช้วิธีการคิดคะแนนประเมินน้ำหนัก (point system) ว่าสมควรรับผู้ใดเข้าไปตั้งถิ่นฐานในแคนาดา นอกจากนี้ รัฐบาลพรรค Liberal ตั้งเป้าว่า ทุกปีจะรับคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ร้อยละ 1 ของจำนวนประชากร
แคนาดา (ขณะนี้ แคนาดามีประชากร ประมาณ 32 ล้านคน ดังนั้น ร้อยละ 1 จึงเท่ากับ 3 แสน 2 หมื่นคน) แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลจะรับผู้อพยพตั้งถิ่นฐาน จำนวนประมาณ 2 แสนคน โดยไม่ได้คำนึงถึงภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน การได้งานที่ไม่เหมาะสม และผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ต้องใช้เวลานานมากกว่าคนรุ่นเก่า ที่จะมีรายได้เทียบเท่ามาตรฐานของชาวแคนาดา ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า แคนาดามองเรื่องการรับคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นการถาวร เพื่อเป็นฐานการเก็บภาษีให้แก่รัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลของแคนาดา
ค่านิยมหลักของสังคมแคนาดาที่ฝังลึกในทุกคนคือการส่งเสริม และเคารพในสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สังคมแคนาดาจะสนใจอย่างยิ่งต่อพัฒนาการใน ประเทศที่มีระบอบการปกครองที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ในพม่า ซึ่งมีการรวมตัวกันในกลุ่มที่ชื่อว่า Friends of Burma โดยเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางมากในแคนาดา ประกอบไปด้วยชนชั้นนำที่มีอิทธิพลในแวดวงการเมืองของแคนาดา ซึ่งเป็นการเพิ่มพลังให้กับกลุ่ม และยังสามารถมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของแคนาดา รวมทั้งกดดันรัฐบาลให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับแคนาดา
ทั่วไป
ด้านการเมือง
ไทยและแคนาดามีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมาเป็นเวลา 42 ปี (8 พฤศจิกายน2504) ความสัมพันธ์ดำเนินมาด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แคนาดาเห็นสมควรให้ไทยพ้นจากฐานะประเทศผู้รับความช่วยเหลือ (recipient) หลังจากที่แคนาดาได้ให้ความช่วยเหลือแบบทวิภาคี และโดยผ่านอาเซียน เอเปค และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ในการพัฒนาประเทศไทยมาเป็นเวลานาน Canadian International Development Agency (CIDA) และกรมวิเทศสหการได้จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือไทยช่วงสุดท้าย (graduation) สำหรับปี 2546 ถึงปี 2549 มูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์แคนาดา ส่วนใหญ่เป็นการฝึกอบรม
ไทยกับแคนาดามีแนวนโยบายที่สอดคล้องกัน โดยยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีความร่วมมือด้วยดีในประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงมนุษย์ แก้ไขปัญหาความยากจน และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และช่วงหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ไทยให้ความร่วมมือด้วยดีในเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของแคนาดาที่ได้ยกระดับนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย ขึ้นเป็นอันดับแรกของนโยบายต่างประเทศเช่นเดียวกับสหรัฐฯ
ไทยกับแคนาดาได้ร่วมมือกันอย่างแข็งขันในฐานะประเทศผู้ริเริ่ม ให้ความสำคัญในประเด็นทางด้านสังคมและการพัฒนา ได้แก่ โครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network: HSN) การเป็นภาคีในอนุสัญญาออตตาวา (Ottawa Convention) โดยในเดือนพฤษภาคม 2545 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเกี่ยวกับทุ่นระเบิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาออตตาวา เมื่อเดือนกันยายน 2546
ด้านการค้า
การค้าระหว่างไทย-แคนาดา ในปี 2546 ปริมาณการค้ารวมของไทยกับแคนาดามีมูลค่า 1,326.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการส่งออก มูลค่า 939.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก
ปี 2545 ร้อยละ 16.33 และการนำเข้าจากแคนาดามีมูลค่า 387.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.53 สำหรับดุลการค้าระหว่างไทยกับแคนาดาในปี 2546 ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบ
ดุลการค้า 551.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยมีส่วนแบ่งของตลาดร้อยละ 0.56 และเป็นลำดับที่ 17 ของประเทศที่แคนาดานำเข้า ในขณะที่แคนาดาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 24 ของไทย
สำหรับในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2547 ไทยและแคนาดามีมูลค่าการค้ารวม 369.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการส่งออก มูลค่า 234.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 8.6 การนำเข้าจากแคนาดามีมูลค่า 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาของปี 2546 ร้อยละ 88.81 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 99.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องวีดีโอเครื่องเสียงและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก
สินค้าส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ โทรทัศน์สี (ร้อยละ 22.93) เครื่องเก็บข้อมูล
และแสดงผล (ร้อยละ 29.39) อะไหล่และชิ้นส่วนของเครื่องประมวลผลอัตโนมัติ (ร้อยละ 231.15) กุ้งปรุงแต่ง (ร้อยละ 37.22) เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ (ร้อยละ 180.07) ส่วนบันทึกข้อมูลเครื่องประมวลผลอัตโนมัติ (ร้อยละ 82.27) ข้าวสีทั้งหมดหรือบางส่วน (ร้อยละ 29.64) เฟอร์นิเจอร์ไม้ (ร้อยละ 16.04) ยกทรง (ร้อยละ 78.88) ที่นั่งที่ทำจากไม้ (ร้อยละ 74.72) สับปะรดปรุงแต่ง (ร้อยละ 6.55) แผ่นยางรมควัน (ร้อยละ 35.73)
สินค้าส่งออกของไทยที่ลดลง ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง (ร้อยละ -3.44) ปลาทูน่ากระป๋อง (ร้อยละ – 0.76) วงจรดิจิตอล (ร้อยละ – 2.11)
สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากแคนาดา ได้แก่ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป แร่ดิบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เมล็ดพืชน้ำมัน
คู่แข่งขันของไทยเรียงตามลำดับส่วนแบ่งตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ60.59 จีน ร้อยละ 5.57 ญี่ปุ่น ร้อยละ 4.12 เม็กซิโก ร้อยละ 3.64 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 2.70 เยอรมนี ร้อยละ 2.58 เกาหลีใต้ ร้อยละ 1.53 ฝรั่งเศส ร้อยละ 1.49 อิตาลี ร้อยละ 1.38 นอร์เวย์ ร้อยละ 1.28 ไต้หวัน ร้อยละ 1.12 อัลจีเรีย ร้อยละ 0.72 มาเลเซีย ร้อยละ 0.68 สวีเดน ร้อยละ 0.61 บราซิล ร้อยละ 0.60 ไอร์แลนด์ ร้อยละ 0.57 และไทย ร้อยละ 0.56 คู่แข่งขันของไทยในเอเชียเรียงตามส่วนแบ่งตลาด คือ จีน (ร้อยละ 5.57) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 4.12) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 1.53) ไต้หวัน (ร้อยละ 1.12) มาเลเซีย (ร้อยละ 0.68) คู่แข่งขันของไทยในเอเชียที่มีส่วนแบ่งตลาดแคนาดาเพิ่มขึ้น คือ จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย นอกนั้นมีส่วนแบ่งตลาดลดลง
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและแคนาดาที่ผ่านมาไม่มีปัญหา เนื่องจากแคนาดาไม่ได้มุ่งที่จะตั้งข้อกีดกันอันเป็นอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี การค้าระหว่างไทย-แคนาดายังมีโอกาสขยายตัวได้อีก
ด้านการลงทุน
การลงทุนของแคนาดาในไทยมีไม่มาก ระหว่างปี 2528-2546 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและดำเนินการแล้ว มีจำนวน 37 โครงการ มูลค่าการลงทุน 27,249 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม มีเงินลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีพนักงานเฉลี่ยประมาณ 200 คนต่อโครงการ
จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย เงินทุนไหลเข้าจากแคนาดาในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา (2534-2545) มีปริมาณน้อยมากเฉลี่ยปีละ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2545 มีเงินทุนไหลเข้ามาจากแคนาดาสูงที่สุดถึง 17.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กิจการที่มีเงินทุนไหลเข้ามากที่สุด ได้แก่ ภาค
อุตสาหกรรม และสถาบันการเงิน เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินทุนไหลเข้าจากแคนาดาเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในปี 2545 และสูงที่สุดในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา บริษัทแคนาดาที่สำคัญที่มีอยู่ในไทยแล้ว ได้แก่
• ธนาคาร Nova Scotia (ปัจจุบันผู้แทนของธนาคารได้แก่ นายกอบศักดิ์ ดวงดี รองประธานและผู้จัดการ และเป็นประธานหอการค้าแคนาดาประจำไทย)
• Bata (ผลิตรองเท้า)
• Bombardier Transportation (ก่อสร้างรางรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน)
• SNC-Lavalin International Inc. (บริษัทเกี่ยวกับวิศวกรรม การก่อสร้าง และการบริหารโครงการ)
• Nortel Networks (กิจการด้านโทรคมนาคม)
• Palliser Furniture (ผลิตเฟอร์นิเจอร์)
• Canadoil Asia (ผลิตท่อส่งน้ำมันตั้งโรงงานอยู่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ)
• Canadian Education Center (สถาบันการศึกษา)
โครงการขนาดใหญ่จากแคนาดาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่มีการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันมีเพียง 1 โครงการ คือ บริษัท Asia Pacific Potash Corporation มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 25.8 พันล้านบาท ผลิตเกลือโปแตสเซียม และเกลืออื่นๆ ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน เมื่อปี 2542 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 80 มีคนงานทั้งสิ้น 817 คน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี
กิจการที่แคนาดาสนใจขอรับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ การเกษตร (แคนาดาเชี่ยวชาญในด้านนี้) อุตสาหกรรมเบา สินแร่และโลหะ และภาคบริการ ได้แก่ software ซึ่งได้รับความสนใจจากแคนาดามากที่สุด กิจการวิจัยและการพัฒนา และกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน
ขณะนี้ แคนาดากำลังเริ่มออกไปลงทุนในภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบและแหล่งการผลิตในราคาที่ถูกลง นอกเหนือจากการลงทุนในสหรัฐฯ ประเภทกิจการที่อาจรองรับการลงทุนจากแคนาดาได้แก่ สถาบันการศึกษา อุตสาหกรรมการเกษตร เทคโนโลยีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์
ด้านการศึกษา
ได้มีการจัดทำความตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาและการวิจัยต่าง ๆ กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในแคนาดา อาทิ กับมหาวิทยาลัยในมณฑล Nova Scotia มณฑล New Brunswick และมลฑล Alberta และมีมณฑลอื่น ๆ ที่สนใจจะร่วมมือกับไทย อาทิ มณฑล British Columbia มณฑล Quebec และมณฑล New Foundland and Labrador เป็นต้น นอกจากนี้ แคนาดาได้จัดตั้งศูนย์การศึกษา (Canadian Education Center) ในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยเดินทางไปศึกษาในแคนาดาเพิ่มขึ้น

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความร่วมมือที่ผ่านมาอยู่ในด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ไทยยังมีความร่วมมือกับแคนาดาในกรอบ Association of Thai Professional in America and Canada—ATPAC) มากว่า 10 ปี รวมทั้ง ไทยและแคนาดาได้มีการจัดทำความตกลงและบันทึกความเข้าใจรวม 3 ฉบับเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ อันได้แก่ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมไทยกับ กรมสิ่งแวดล้อมแคนาดา บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศกับองค์การอวกาศแห่งแคนาดา และบันทึกความเข้าใจเพื่อการสถาปนาความร่วมมือทาง วิทยาศาตร์ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กับกระทรวงการสาธารณสุขแห่งประเทศแคนาดา
นอกจากนี้ ภายหลังจากการเดินทางเยือนแคนาดาของคณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สกว. และNational Research Council (NRC) ของแคนาดาได้ตกลงใน หลักการที่จะร่วมลงทุนกับสกว. สนับสนุนการวิจัยระหว่างไทย – แคนาดา ในหัวข้อ “เคมีทางยา” โดยทาง NRC ขอเริ่มด้วยโครงการวิจัยร่วมประมาณ 3 โครงการในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์แคนาดาในปีแรก ซึ่งจะได้จัดทำ MOU เพื่อการนี้ต่อไป
ด้านการต่อต้านยาเสพติด
ไทยและแคนาดาได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาโดยตลอด ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ปราบปราม ยาเสพติด โดยแคนาดาได้ส่งเจ้าหน้าที่ประสานงานยาเสพติด สังกัดกรมตำรวจแคนาดา มาประจำประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 และได้ให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการป้องกัน การปราบปรามยาเสพติด และการปลูกพืชทดแทน ทั้งโดยตรงและโดยผ่านกองทุนด้านยาเสพติดของสหประชาชาติ ในปัจจุบันความช่วยเหลือจะเป็นไปในลักษณะจัดฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดไทย ในแคนาดาและส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นวิทยากรฝึกอบรมเจ้าหน้า ที่ปราบปรามยาเสพติดของไทยในด้านการข่าว การสืบสวนทางการเงิน การสืบสวนและปราบปรามยาเสพติด และการใช้เทคนิคการสืบสวนพิเศษ
ด้านการท่องเที่ยว
แคนาดาเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญจากภูมิภาคอเมริกา โดยในปี 2544 มีจำนวน 92,803 และช่วงปี 2545 มีจำนวน 101,588 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.23 จากปี 2544 สำหรับปี 2546 (มกราคม-กันยายน) มีจำนวน 96,966 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.88 จากช่วงเดียวกันของปี 2545 ระยะเวลาพำนักในประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 11.51 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันในประเทศไทยประมาณ 2,660.37 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดของการจับจ่ายสินค้า จึงกล่าวได้ว่า แนวโน้มของตลาดแคนาดาค่อนข้างดีสำหรับไทย

ด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม
ไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีด้านวัฒนธรรมในสายตาของแคนาดา ทำให้ไทยเป็นที่ชื่นชมและสนใจโดยทั่วไป แต่การที่อยู่ห่างไกลกัน การส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรม จึงเป็นสิ่งที่สมควรได้รับ การสนับสนุน โดยล่าสุดบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกับไปรษณีย์แคนาดาจัดทำตราไปรษณียากรชุดความร่วมมือระหว่างไทย-แคนาดา (Joint Issue) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ และเพื่อส่งเสริมการสะสมตราไปรษณียากรระหว่างไทย-แคนาดาอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการจำหน่ายดวงตราไปรษณีย์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2546 พร้อมกับแคนาดา นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวาร่วมกับ Canada Post ได้เป็นเจ้าภาพร่วม จัดงานเลี้ยงรับรองในโอกาสดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2546 ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทไปรษณีย์แคนาดา จำกัด (Canada Post)และได้แจก ดวงตราไปรษณีย์เป็นของที่ระลึกด้วย นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวายังได้จัด กิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรมในแคนาดาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ด้านกงสุล
ชาวไทยในแคนาดา มีจำนวน 8,130 คน กระจายอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ เช่น นครแวนคูเวอร์ นครโทรอนโต นครมอลทรีออล โดยส่วนใหญ่เป็นหญิงไทยที่สมรสกับชาวแคนาดา เดินทางเข้าไปในแคนาดาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีความเป็นอยู่ที่ดี และได้รับสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกับ ชาวแคนาดา นักเรียนไทยมีประมาณ 100 คน แรงงานไทย ประมาณ 41 คน ทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ที่เมืองวินนิเป็ก มณฑลมานิโตบา คนไทยส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ดี ไม่มีปัญหาในการดำรงชีพ และปรับตัวเข้ากับสังคมแคนาดาได้ดี อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดามีความแตกต่างในมุมมองเกี่ยวกับ แรงงานไทยในแคนาดา โดยฝ่ายไทยมองถึงการขยายตลาดแรงงานไทยไปต่างประเทศ แต่แคนาดามองในแง่การตั้งถิ่นฐานของคนต่างชาติในแคนาดา ซึ่งจะเป็นฐานเสียภาษีให้แคนาดาต่อไป

ความตกลงสำคัญๆ กับไทย
1. Memorandum of Understanding Concerning Thailand-Canada Cooperation Project Promoting Partnership (11 สิงหาคม 2546)
2. Memorandum of Understanding Concerning the CIDA Regional Project (16 ตุลาคม 2543)
3. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม (17 มกราคม 2540)
4. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (17 มกราคม 2540)
5.ความตกลงเรื่องการยอมรับความเท่าเทียมกันของ ระบบตรวจสอบควบคุมสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ (9 เมษายน 2540)
6.บันทึกความเข้าใจเพื่อการสถาปนาความร่วมมือด้านวิทยาศาตร์ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงการสาธารณสุขแห่งประเทศแคนาดา (30 เมษายน 2540)
7.สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือทางอาญา (3 ตุลาคม 2537)
8.ความตกลงเพื่อการฝึกอบรมบุคลากรของกองทัพ (28 เมษายน 2533)
9.ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (24 พฤษภาคม 2532)
10.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (11 กรกฎาคม 2531)
11.อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยง การรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (11 เมษายน 2527)
12.ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการพัฒนา (5 มกราคม 2526)
13.สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (5 มกราคม 2526)
14.ความตกลงจัดตั้งความร่วมมือเมืองพี่เมืองน้อง
- ข้อตกลงโครงการความร่วมมือระดับท้องถิ่นระหว่างเทศบาลเมืองนนทบุรี กับเทศบาลนอร์ธแวนคูเวอร์ (มลฑลบริติชโคลัมเบีย) ลงนามเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537
- โครงการความร่วมมือมิตรภาพระหว่างเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี กับเมือง Courtenay (มลฑลบริติชโคลัมเบีย) ลงนามเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2537
- ข้อตกลงความมั่นคงระดับท้องถิ่นระหว่างเทศบาลเมืองพังงา กับเมืองสลาฟเลก ลงนามเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537
- ข้อตกลงระดับท้องถิ่นระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่ กับเมืองโอซาวา (มลฑลโทรอนโต) ลงนามเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540

การเยือนของผู้นำระดับสูง
ฝ่ายไทย
-21 – 24 มิถุนายน 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนแคนาดาอย่างเป็นทางการ
-เมษายน 2527 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนแคนาดาอย่างเป็นทางการ
-21 - 28 กรกฎาคม 2529 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน เยือนแคนาดาอย่างเป็นทางการ
-28 กันยายน - 5 ตุลาคม 2537 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนแคนาดาอย่างเป็นทางการ
-23 - 31 พฤษภาคม 2540 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เยือนแคนาดาในฐานะอาคันตุกะของรัฐบาลแคนาดา
-17 - 24 กันยายน 2540 นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือน แคนาดาอย่างเป็นทางการ
-กรกฎาคม 2543 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนนครแวนคูเวอร์
-10 - 21 มิถุนายน 2544 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนแคนาดาเป็นการส่วนพระองค์
-24 - 29 มิถุนายน 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลอัลเบอร์ตา อย่างเป็นทางการ
ฝ่ายแคนาดา
-มกราคม 2526 นายปิแอร์ ทรูโด นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
-29 มีนาคม - 1 เมษายน 2530 นาง Jeanne Sauve ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสามีเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
-16 - 20 มกราคม 2540 นาย Jean Chretien นายกรัฐมนตรีพร้อมนายกรัฐมนตรีมณฑลต่าง ๆ ของแคนาดาเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
-28 - 29 กรกฎาคม 2542 นาย Lloyd Axworthy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
-21 - 23 กุมภาพันธ์ 2543 นาย Rey Pagtakhan รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
-13 - 18 พฤศจิกายน 2544 นาย Peter Milliken ประธานสภาผู้แทนราษฎรเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐสภา
-28 - 31 มีนาคม 2545 นาย David Kilgour รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบด้านเอเชีย-แปซิฟิก เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
- 2 - 6 พฤศจิกายน 2545 นาย Lyle Oberg รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ มณฑลอัลเบอร์ตา เยือนไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการศึกษาของมณฑลกับโครงการพัฒนาภูฟ้า
- 8 - 13 พฤษภาคม 2546 คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้า การลงทุน และข้อพิพาทการค้า เยือนไทย
- 3 - 6 กันยายน 2546 นาย John Manley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 10
- 16 - 22 ตุลาคม 2546 นาย William Graham รัฐมนตรีต่างประเทศ และนาย Pierre Pettigrew รัฐมนตรีการค้าต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและการค้า เข้าร่วมการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าเอเปค
- 19 - 22 ตุลาคม 2546 นาย Jean Chretien นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ

กงสุลกิตติมศักดิ์
กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในแคนาดา
1. Mr. Louis P. Desmarais
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครมอนทรีออล (มณฑลควิเบก)
2. Mr. Horst Gergen Paul Koehler
รองกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแวนคูเวอร์ (มณฑลบริติชโคลัมเบีย)
3. Mr.Richard C. Meech
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครโทรอนโต (มณฑลออนแทรีโอ)
4. Mr. William A. Dickinson
กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครโทรอนโต (มณฑลออนแทรีโอ)
5. Mr. John R. Lacey
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ นครแคลการี (มณฑลอัลเบอร์ตา)
6. Mr. Dennis L. Anderson
กงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเอ็ดมันตัน (มณฑลอัลเบอร์ตา)
7. Mr. Dennis G. Laliberte
รองกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเอ็ดมันตัน (มณฑลอัลเบอร์ตา)

กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาในไทย
นายนิตย์ วังวิวัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์แคนาดาประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1994 นายนิตย์ฯ เป็นเจ้าของบริษัท Chiangmai Thai-Canadian Venture และเป็นประธานสมาคมผู้ผลิตชาแห่งประเทศไทย


เรียบเรียงโดย กองอเมริกาเหนือ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2643-5121--2 Fax. 0-2643-5124 E-mail : american02@mfa.go.th



ข้อมูลนี้ คัดลอกมาจากเวบของกระทรวงการต่างประเทศ หากท่านต้องการข้อมูลที่อัพเดท สามารถเข้าชมได้ที่เวบไซต์ของ กระทรวงการต่างประเทศครับ

อ้างอิง
http://www.vacationzone.co.th/index_canada.asp